ฤทธิ์แห่งปัญญาพระคเณศวร
มีตำนานที่กล่าวถึงความมีสติปัญญาและไหวพริบของพระคเณศไว้หลายตอน
อย่างเช่นกรณี ที่ท่านเป็นผู้ลิขิตมหากาพย์ภารตะ
ครั้งหนึ่ง มหาฤาษีวยาสะมีความต้องการที่จะเขียนมหากาพย์ภารตะ
แต่เกรงว่าตนจะทำเองไม่สำเร็จ จึงไหว้วานให้ผู้อื่นช่วย
แค่ไม่มีใครกล้าอาสาที่จะรับผลงานชิ้นนี้
ฤาษีนารอดเห็นว่าพระคเณศองค์เดียวเท่านั้นที่จะเขียนมหากาพย์ชิ้นนี้ได้
ในที่สุดฤาษีวยาสะจึงต้องทูลขอความช่วยเหลือจากพระคเณศ
พระคเณศบอกว่า จะเขียนตามที่ฤาษีบอก
แต่ทันทีที่ฤาษีหยุดบอกจะหยุดเขียนทันที ฝ่ายฤาษีบอกว่า
สิ่งที่พูดออกไปจากปากของเราต้องตีความให้ถ่องแท้ก่อนที่จะลงมือเขียน
ฉะนั้นเมื่อฤาษีต้องใช้การคิดสำหรับโศลกต่อไปก็จะบอกศัพท์ยาก
ๆเพื่อให้พระคเณศตีความเสียก่อนเพื่อเป็นการประวิงเวลา
พระคเณศจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นยอดอัจฉริยะในฐานะที่เป็นผู้ลิขิต
มหาภารตะ ซึ่งถือว่าเป็นคัมภีร์มหากาพย์สุดยอดของฮินดู
อย่างไรก็ตาม
เรื่องมหากาพย์ภารตยุทธ์นี้ แน่นอน คงไม่มีใครเชื่อว่ามาจากฝีมือพระคเณศแน่
แต่นั่นเป็นภูมิปัญญาของปราชญ์โบราณที่ต้องการจะบอกกับคนในยุคสมัยต่อไปว่า
การบูชาครูเพื่อขอดวงปัญญาในการทำงานให้ลุล่วงนั้น เป็นสิ่งสำคัญในลำดับแรก
โดยเฉพาะการรจนางานในเชิงพระคัมภีร์ เหมือนเช่นพระมหาธีรราชเจ้า
มักจะประพันธ์อักขระเพื่อถวายบูชาต่อพระคเณศก่อนที่จะเริ่มงานประพันธ์ทุกครั้ง
มีอยู่หลายกรณี
หลายเหตุการณ์ที่ท่านทรงแสดงความเป็นเทพแห่งปัญญาที่แท้จริง
แต่กรณีที่เด่นๆก็อย่างเช่น กรณีเดินทางรอบโลกเพื่อผลมะม่วง
ในคราวหนึ่ง
พระนางอุมาได้นำเอาผลมะม่วงมาถวายกับพระศิวะผลหนึ่ง ปรากฏว่าลูกทั้งสองคนคือ
พิฆเนศวรและขันธกุมาร ต่างก็อยากจะเสวยมะม่วงผลนี้ด้วยกันทั้งคู่
ด้วยเหตุนี้พระศิวะจึงอยากรู้ว่า ลูกทั้งสองคนนี้ใครจะเก่งกว่ากัน
โดยตั้งโจทย์ว่า
ใครก็ตามหากเดินทางรอบโลกถึงเจ็ดรอบและกลับสู่วิมานปาวตา(วิมานของพระศิวะและพระนางอุมา)
ก่อนผู้นั้นจะได้ผลมะม่วงลูกนี้
ว่าแล้วฝ่ายขันธกุมารก็ไม่รอช้า รีบขี่นกยูงตระเวนท่องโลกทันที
ฝ่ายพิฆเนศแทนที่จะเอาอย่าง กลับเดินประทักษิณรอบบิดาเจ็ดรอบ และกล่าวว่า
"ข้าแต่พระบิดา พระองค์คือจักรวาล
และจักรวาลคือพระองค์ พระองค์ผู้สร้างโลก และทรงเป็นบิดาแห่งข้าพระองค์
ข้าพระองค์ทำประทักษิณพระบิดาเจ็ดรอบ ถือว่าได้กุศลเท่ากับเดินทางรอบโลกเจ็ดรอบ"
มหาเทวะศิวะเทพยินดีในคำตอบและชื่นชมในสติปัญญาจึงมอบผลมะม่วงให้กับพระพิฆเนศวรทันที
วิธีการพิชิตศัตรู
พระพิฆเนศนั้นเป็นเทพที่มีลักษณะโดดเด่นกว่าเทพพระองค์อื่น
นอกเหนือจากเรื่องมีพระเศียรเป็นช้างแล้ว นั่นคือ การนิยมการนำศัตรูเอามาเป็นพวก
พระคเณศนั้นไม่นิยมที่จะล้างผลาญศัตรูให้ตายไปเหมือนเทพพระองค์อื่น
แต่มักจะใช้ปัญญาที่มีอยู่เป็นทุนเดิมในการดำเนินกุศลโลบาย
เพื่อให้ศัตรูมีโอกาสกลับใจมาเป็นคนดี หรือเรียกง่าย ๆก็คือ
เมื่อยอมสวามิภักดิ์แล้วก็จะให้เป็นเทพบริวารไล่เรียงกันไป
บรรดาเหล่ารายชื่ออสูรที่ยอมสวามิภักดิ์ต่อพระคเณศประกอบด้วย
มัตสระ (ที่มาของคเณศปางวักระตุณฑะ)
มะทะ เกิดจากฤาษีโจวะนะสร้างขึ้น
(ที่มาของปางเอกทันตะ)
ยานาริลูกของอสูรทุระพุทธ (ที่มาของปาง
ปุระณานันมโหกระซึ่งอวตารมาเป็นลูกพระลักษมี)
โลภาสูร กำเนิดจากความโลภของท้าวกุเบธ(ที่มาของปางคชนันท์)
โกรธาสูร
เกิดจากความลุ่มหลงของพระศิวะที่เห็นพระวิษณุแปลงรูปเป็นสาววัย 16
(ที่มาของปางลัมโพทระ)
กามาสูร
เกิดจากความลุ่มหลงของวิษณุเทพต่อชายาอีกพระองค์หนึ่ง ชื่อ พระแม่วฤนทา
(ที่มาของปางวิกฎะ)
มมตาสูร
เกิดจากเสียงหัวเราะของพระนางอุมา (ที่มาของวิฆนราช)
อหัมอสูร เกิดจากเสียงจามของสุริยเทพ
(ที่มาของปางธูมรวรรณ)
การอภิเษกสมรส
อันที่จริงเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เสริมแต่งให้ความเป็นพระพิฆเณศวรมีความสมบูรณ์ขึ้นเท่านั้นเอง
เพราะพระชายาทั้งสองพระองค์ซึ่งเป็นธิดาของประชาบดีอิศวรรูปนั้นแทบจะไม่บทบาทอะไรเลยนอกจากคอยอยู่ปรนนิบัติพัดวี
นวดแขน เกาขาไปตามเรื่อง พระชายาทั้งสองมีโอรสกับพระคเณศด้วย
นางพุทธิให้กำเนิดลาภะ ส่วนนางสิทธิให้กำเนิด เกษม
ซึ่งคุณสมบัติทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นพุทธิ สิทธิ ลาภะ เกษม
แต่ตำนานที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือ พระคเณศเป็นเทพที่ถือพรหมจรรย์
เรื่องการอภิเษกนั้น
เรื่องราวดำเนินละม้ายคล้ายกับการชิงผลมะม่วง
เพราะเมื่อถึงวัยที่โอรสทั้งสองพระองค์ของศิวะเทพและนางปราวตีเจริญเติบโตพอที่จะมีเหย้ามีเรือน
แต่มีเงื่อนว่า
พระศิวะจะจัดพิธีวาหะให้ต่อเมื่อลูกคนใดคนหนึ่งสามารถผ่านการเดินรอบโลกได้เจ็ดรอบด้วยเวลาอันรวดเร็ว
พระคเณศก็ทรงใช้การประทักษิณรอบพระศิวะเจ็ดรอบ
แล้วให้คำอธิบายเหมือนกับเหตุการณ์ในตอนที่แย่งชิงผลมะม่วงกับพระขันธกุมาร
พระศิวะพอใจในคำอธิบายของพระคเณศมาก
และตรัสสรรเสริญในภูมิปัญญาของโอรสในพระองค์ว่า
"โอ…ลูกรักเจ้าเป็นบุคคลที่ยอดเยี่ยมยอดและมีปัญญาเป็นที่สุดสิ่งที่เจ้าได้กล่าวมาเป็นจริงทั้งสิ้น
ถ้าบุคคลหนึ่งได้มีปัญญาเป็นคุณสมบัติติดตัว แม้เมื่อโชคร้ายมาถึงเขา
ความอับโชคนั้นย่อยถูกกำจัดด้วยปัญญา"
ว่าแล้วในคราวนั้น
พระคเณศจึงได้พระชายาคราวเดียวกันถึง 2
คนคือนางพุทธิและสิทธิอย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้น
เหตุแห่งการเสียงา
มีหลายตำนานมาก พอจะแบ่งได้ดังนี้
ตำนานแรก ปรศุรามใช้ขวานจาม
ปรศุรามนั้นเป็นอวตารของวิษณุเทพ
กล่าวว่า ปรศุรามได้ยืมขวานจากพระศิวะไปทำลายเหล่ากษัตริย์
เมื่อเสร็จภารกิจจะเข้าเฝ้าที่เขาไกรลาส ระหว่างนั้นบริเวณพระที่นั่งชั้นใน
พระศิวะมหาเทพกำลังสนทนาอยู่กับนางปราวตี พระคเณศไม่ยอมให้ปรศุรามเข้าพบ
ปรศุรามโมโหเลยใช้ขวานของพระศิวะขว้างไปยังพระคเณศ
พระองค์จำใจต้องใช้ใช้งาข้างซ้ายรับขวานนั้น
ด้วยเหตุที่ท่านทรงมีความกตัญญูเป็นอย่างยิ่งในบิดา ครั้นจะต่อสู้กันไปก็อาจทำได้
แต่จะมีประโยชน์อะไรกับการทำลายฤทธิ์เดชของอาวุธซึ่งเป็นของบิดาตนเอง
ตำนานสอง ได้เศียรช้างงาเดียว
เมื่อคราวที่พระศิวะได้ทำพิธีโสกัต์และพระวิษณุเทพพลั้งเผลอเปล่งวาจา
ยังผลให้เศียรของกุมารหายไปนั้น
ได้มีเทวโองการให้หาเศียรของมนุษย์ที่เสียชีวิตมาต่อให้ แต่ปรากฏว่าในวันอังคารนั้นไม่มีมนุษย์ผู้ใดถึงฆาต
มีเพียงช้างงาเดียวที่นอนตายอยู่ทางทิศเหนือ จึงตัดเศียรมาต่อให้
ตำนานสามโดนพระศิวะใช้ขวานจาม
เมื่อคราวที่กุมารน้อยถือกำเนิดใหม่
ๆและเฝ้าปากทวารห้องสรงน้ำของพระแม่ปราวตีนั้นพระศิวะไม่ทราบว่าเป็นลูก
เลยเกิดการต่อสู้กันพระศิวะโมโหจึงใช้ขวานขว้างไปโดนงาของพระคเณศหัก
ตำนานสี่ งาถอดได้เองตามธรรมชาติ
เมื่อคราวที่พระคเณศต่อสู้กับอสูรอสุรภัค
พระคเณศแสดงเดชโดยการถอดงาของตัวเองขว้างไปที่อสูร
วันคเณศจตุรถี
การบูชาพระคเณศเรียกว่า
"พิธีคเณศจตุรถี" มีความหมายว่า "พิธีอุทิศต่อพระคเณศ"
จะกระทำวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน ภัทรบท
หรือเดือน 10 ในช่วงเดือนกันยายน
(พ.ศ.2538 ) ที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่ฮือฮากันมากที่สุดก็คือปรากฏการณ์ที่เทวรูปดื่มนมสดก็ปรากฏขึ้นมาทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วยซึ่งตรงกับเทศกาลประกอบพิธีคเณศจตุรถี
หรือพิธีอุทิศต่อพระคเณศพอดีทำให้ปรากฏการดังกล่าวได้รับความสนใจไปทั่วโลก
หนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์เรื่องราวดังกล่าวขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
ผู้คนแตกตื่นพากันไปดูเทวรูปดื่มน้ำนมกันแพร่หลาย
ในวันที่ประกอบพิธีคเณศจตุรถีนั้น
ประชาชนทั้งหลายต่างพากันมาทำสักการะบูชารูปเคารพของพระคเณศที่ปั้นด้วยดิน (เผา )
เครื่องบูชาจะประกอบไปด้วยดอกไม้ (โดยเฉพาะดอกไม้สีสดใส เช่น สีแดง, สีเหลือง, สีแสด,) ขนมต้ม, มะพร้าวอ่อน, กล้วย, อ้อย, นมเปรี้ยว,(แบบแขก) ขณะทำการบูชา
ผู้บูชาจะท่องพระนาม 108 ของพระองค์
หลังจากการบูชาแล้วก็จะเชิญพวกพราหมณ์ ผู้ประกอบพิธีมาเลี้ยงดูกันให้อิ่มหนำสำราญและมีข้อห้ามในวันพิธีคเณศจตุรถีนี้คือ
ห้ามมองพระจันทร์อย่างเด็ดขาด และถือกันว่าถ้าผู้ใดได้มองพระจันทร์
(เห็นพระจันทร์) โดยพลาดพลั้งเผลอเรอไป พวกชาวบ้านก็จะพากันแช่งด่าผู้นั้นทันที่
(ถือว่าซวยมาก) และที่ชาวบ้านด่านั้น ก็เป็นความหวังดี มิได้ด่าด้วยความโกรธแค้น
แต่ด่าเพราะเชื่อกันว่าการด่าการแช่งนั้นจะทำให้คน (ซวย) นั้นพ้นจากคำสาปไปได้
ความเชื่อนี้ มีเรื่องเล่าที่มาอยู่ 2 เรื่อง
คือสืบเนื่องมาจากการที่พระคเณศพลัดตกจากหลังหนูจนท้องแตก
(เพราะหนูตกใจที่มีงูเห่าเลื้อยผ่านหน้า และพระคเณศเสวยขนมต้มมามาก)
ขนมต้มทะลักออกมาพระคเณศ ก็รีบเก็บขนมต้มยัดกลับไปในพุง
และจับงูเห่าตัวนั้นมารัดพุงขณะเดียวกันพระจันทร์
ก็เผอิญมาเห็นเข้าก็อดขำไม่ได้หัวเราะออกมาดังสนั่นพระคเณศโกรธยิ่งนัก
เอางาขว้างไปติดพระจันทร์จนแน่น ทำให้โลกมืดลงทันที่ เพราะไฟดับ (เหมือนราหูอมจันทร์)
พระอินทร์และทวยเทพทั้งหลายทราบเรื่อง
ก็ต้องพากันไปอ้อนวอน พระคเณศจึงยอมถอยเอางาออก
แต่พระจันทร์ก็ต้องได้รับโทษอยู่คือ จะต้องเว้าๆแหว่งๆเป็นเสี้ยวๆไม่เต็มดวงทุกคืน
จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำและแรม 1 ค่ำ จึงจะเต็มดวง
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งเล่าว่าพระคเณศสาปคนที่มองดูพระจันทร์ในวันที่บูชาพระองค์คือ
หากใครมองดูพระจันทร์ในวันนี้ ผู้นั้นก็จะต้องกลายเป็นคนจัณฑาลไปเลย
และคนจัณฑาลในสังคมอินเดียจะเป็นที่รังเกียจของคนวรรณะอื่นๆทุกๆวรรณะ
(เพราะถือว่าคนจัณฑาล ไม่มีชนชั้น เป็นชนชั้นต่ำ )
ดังนั้นคำสาปให้เป็นจัณฑาลจึงเป็นโทษร้ายแรงยิ่งนัก
กษัตริย์ไทยกับพระพิฆเณศ
ภารตวิทยามาแพร่หลายอย่างจริงจังในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่หก
ทั้งนี้เนื่องจากพระองค์ได้ศึกษาที่ประเทศอังกฤษ และทรงสนใจภารตวิทยาอยู่มาก
ดังนั้นพระองค์จึงทรงมีความเข้าใจถ่องแท้ในพิธีกรรมต่าง ๆของฝ่ายพราหมณ์หรือฮินดูเป็นอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงได้นำรูปเคารพของพิฆเณศวรมาใช้ในรัชสมัยของพระองค์
ตามอย่างที่ปฏิบัติกันมาแต่โบราณ
พระองค์ท่านได้กำหนดให้พระคเณศเป็นดวงตราเครื่องหมายวรรณคดีสโมสร
โดยดวงพระราชลัญจกรรูปกลมองค์นี้ตามตำแหน่งคือ ดวงพระราชลัญจกรรูปกลม
ศูนย์กลางกว้าง 3 นิ้ว 3 อนุกระเบียด (7 เซนติเมตร )
ลายเป็นรูปพระคเณศนั่งแท่น
แวดล้อมด้วยลายกนกสวมสังวาลย์นาคหัตถ์ขวาเบื้องบนถือวัชระเบื้องล่างถืองาหัตถ์ซ้ายเบื้องบนถือบ่วงบาศ
เบื้องล่างถือครอบน้ำ (ขันน้ำมนต์หรือ หม้อน้ำ)
เมื่อปี 2480
พระพิฆเณศได้กลายเป็นดวงตราประจำกรมศิลปากรโดยลายกลางเป็นพระคเณศรอบวงกลมมีลวดลายเป็นดวงแก้ว
7 ดวง อันมีความหมายถึง ศิลป์วิทยาทั้ง 7 แขนงคือ ช่างปั้น, จิตรกรรม, ดุริยางค์ศิลป์, นาฏศิลป์, วาทศิลป์, สถาปัตยกรรม, อักษรศาสตร์
ฉะนั้นชนทั้งหลายจึงนับถือพระคเณศเป็นบรมครูทางศิลปะ
ในสมัยอยุธยานั้น ลัทธิพราหมณ์
ฮินดูยิ่งชัดเจนขึ้น เพราะไม่ว่าจะเป็นชื่อราชธานี (อยุธยา)
หรือพระนามของกษัตริย์ที่ขึ้นต้นด้วย สมเด็จพระรามาธิบดี
ก็คืออิทธิพลที่ได้มาจากมหากาพย์รามเกียรติ์นั่นเอง
สมัยพระเจ้าปราสาททอง
ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขา
มีเรื่องเกี่ยวกับการรื้อย้ายเทวสถานพระอิศวรและพิธีลบศักราช
ซึ่งเป็นพิธีของพราหมณ์
สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
มีการจัดพิธีตรียัมปวายและมีบันทึกว่า
เคยจัดข้าวของจากอยุธยาไปทำพิธีที่เทวสถานเมืองนครศรีธรรมราช
และทรงโปรดให้มีการหล่อรูปพระพิฆเณศวร และทรงนับถือเป็นบรมครูช้าง
นอกจากนี้ยังได้เกิดวิทยาการแขนงต่าง ๆอันมีพื้นฐานจากแขนงวิชาอุปเวทและอาถรรพเวท
พิธีกรรม
การนับถือบูชาพระคเณศในประเทศไทยปรากฏเป็นรูปธรรมอย่างเด่นชัดในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์
เพราะว่าพระราชพิธีที่สำคัญ ๆ ในราชสำนักจะมีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการบูชาพระคเณศประกอบเข้ามาในพิธีต่าง
ๆ ดังกล่าวด้วย ซึ่งพิธีกรรมต่าง
ที่มีการบูชาพระคเณศตามคติพราหมณ์ที่ปฏิบัติอยู่ในประเทศไทย
สมัยปัจจุบันก็คือ
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และ พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
พระราชพิธีต่างๆเหล่านี้จะมีการอ่านโคลกสรรเสริญบูชาเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์
โดยจะเริ่มด้วยคาถาบูชาพระคเณศก่อนเป็นอันดับแรกสุด
ก่อนจะบูชาพระศิวะเสียอีกทั้งนี้เพื่อให้พระคเณศประทานพรให้สามารถทำพิธีนั้นให้สำเร็จ
ได้ด้วยดี
พิธีกรรมที่มีการบวงสรวงบูชาพระคเณศในฐานะเทวรูปประธานในพิธีที่น่าสนใจได้แก่
๑. พระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวาย
พระราชพิธีนี้เป็น ๒
พิธีต่อเนื่องกันคือ พิธีตรียัมปวาย กับ
พิธีตรีปวายจะกระทำในเดือนยี่ของทุกปีเป็นเวลา ๑๕ วัน
พิธีนี้จัดเป็นพิธีใหญ่ของศาสนาพราหมณ์ และ แต่เดิมจะมีการโล้ชิงช้าด้วย
ในพิธีดังกล่าวจะมีการอ่านโคลกสรรเสริญ และถวายโภชนาหารแด่เทพพระเจ้า ณ
เทวสถานทั้ง ๓ หลัง คือ สถานพระอิศวร สถานพระคเณศ และ สถานพระนารายณ์
เรียงกันไปตามลำดับ มีการอัญเชิญเทวรูปพระอิศวร พระอุมา พระมหาวิฆเนศวร และ
พระนารายณ์
ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจิมแล้วอัญเชิญมาเข้าพิธีโดยรถยนต์หลวง
๒. พิธีจับเชิง
พิธีนี้เป็นการขอขมาโทษต่อช้างสำคัญ
ที่สำคัญที่จะได้เป็นใหญ่เป็นโตต่อไป พิธีนี้ต้องมีการผู้มัดช้างเพื่อฝึกสอนช้าง
การฝึกบางครั้งต้องดุหรือลงโทษประกอบด้วย จึงต้องขอขมาเสียก่อน
และเพื่อเป็นการกล่อมเกลานิสัยช้างป่าที่ดุร้ายให้เชื่องขึ้น
พิธีจับช้างนี้ภายในปะรำพิธีตรงข้ามกับเบญจภาคจะจัดตั้งโต๊ะ
หมู่บูชาพระมหาวิฆเนศวร์อันประกอบด้วยดอกไม้ ธูปเทียน ขันน้ำมนต์ (ขันสาคร) และ
กำหญ้าคา ถัดไปทางซ้ายตั้งโต๊ะเชือกบาศก์ ชะนัก (ขอสับช้าง)
และเชือกมะนิลาหุ้มด้วยผ้าขาว พิธีนี้จะมีการบูชาพระรัตนตรัย
บูชาพระมหาวิฆเนศวร์โดยกราบตามวิธีรำพัดชากล่าวคำสรรเสริญพระมหาวิฆเนศวร์และขอพรตามแต่ปรารถนา
เสร็จแล้วอัญเชิญพระมหาวิฆเนศวร์ลงสรงในขันน้ำมนต์ แล้วอัญเชิญกลับไปโต๊ะหมู่บูชา
น้ำสรงในขันสาครนี้จะใช้ประพรมให้ผู้ฝึกช้างทุกคนถือเป็นสวัสดิพิพัฒน์มงคล
๓.
พิธีน้อมเกล้าถวายและพระราชพิธีขึ้นระวางสมโภชในวันพระราชพิธีฯ
จะมีการแห่ช้างสำคัญในกระบวนแห่
พราหมณ์จะอัญเชิญพระเทวกรรมเข้าในพิธีด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เสด็จพระราชดำเนินมายังโรงพิธี ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธปฏิมาพระชัยหลังช้าง
และจุดธูปเทียนบูชาพระเทวกรรม พร้อมกับทรงศีลในตอนท้ายพระราชพิธีนี้
พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พราหมณ์
คู่สวดอ่านฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างเป็นอันเสร็จพระราชพิธี
๔.
พิธีบวงสรวงพระคเณศก่อนการดำเนินการจัดสร้างพระเมรุมาศ
การจัดสร้างพระเมรุมาศเพื่อใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และ
พระบรมวงศานุวงศ์องค์สำคัญ ๆ ณ บริเวณท้องสนามหลวง
ก่อนที่จะดำเนินการจัดสร้างพระเมรุมาศจะต้องประกอบพิธีบวงสรวงพระพิฆเนศวร์เสียก่อน
เพื่อความสวัสดีและการจัดสร้างจะได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
แต่ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพจะไม่มีการอัญเชิญพระพิฆเนศวร์มาเข้าพิธี
แสดงว่าพระพิฆเนศวร์จะเกี่ยวกับพิธีทางช่างเท่านั้น (พิธีศพไม่เกี่ยว)
๕. พิธีไหว้ครูทางนาฎกรรมและการช่าง
ในทางนาฏกรรมนั้น
บรมครูจะปรากฏรูปเคารพในลักษณะของหัวโขนซึ่งจะอัญเชิญมาประกอบวิธีไหว้ครูพร้อมกับเครื่องใช้ในการแสดงต่างๆ
หัวโขนที่ใช้ประกอบการแสดงอันได้แก่ ศีรษะของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์
(เทพเจ้าสูงสุด) คือพระอินทร์ พระคเณศ พระปรคนธรรพ์ และ พระปัญจสีขร
ซึ่งเป็นเทพเจ้าฝ่ายดุริยางค์ศิลป์ โดยเฉพาะศีรษะพระคเณศนั้นจะอัญเชิญไปประดิษฐานไว้โต๊ะหมู่บูชาที่จัดไว้โดยเฉพาะแยกจากศีรษะเทพองค์อื่นๆสำหรับการบูชาเป็นพิเศษ
ส่วนศิลปะทางการช่างนั้น
แม้จะไม่ได้นับถือพระคเณศเป็นเทพสำคัญโดยตรง เช่นเดียวกับพระวิศวกรรม
แต่พระคเณศก็มีบทบาทไม่น้อยในพิธีไหว้ครูศิลปะการช่าง ตามคติดั้งเดิมที่ว่า ในการเล่าเรียนศิลปวิทยาการทั้งปวงต้องมีการสวดบูชาพระคเณศก่อน
ซึ่งพระคเณศนั้นทางนาฏศิลป์ถือว่ามีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์มาก
ผู้ศึกษาทางการนี้จะเชื่อกันว่าครูแรง
หากไม่เคารพบูชาหรือทำการใดๆอันไม่เหมาะสมเป็นการลบหลู่ก็มักจะประสบภัยพิบัติ
๖. การไหว้ครูของนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร
วิทยาลัยช่างศิลป์ นาฏศิลป์
สถาบันต่างๆเหล่านี้มีรูปของพระคเณศเป็นตราสัญลักษณ์
ของสถาบันเมื่อมีการไหว้ครู ก็จะต้องไหว้บรมครูทางงานศิลปะคือพระคเณศเสียก่อน
โดยจะมีการประกอบพิธีตามรายละเอียดที่กล่าวไว้แล้วในข้างต้น
๗. การบูชาพระคเณศในพิธีคเณศจตุรถี
พิธีคเณศจตุรถีหรือพิธีอุทิศต่อพระคเณศนี้เป็นพิธีที่ชาวฮินดูในประเทศอินเดียกระทำกันในวันขึ้น
๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ดังได้กล่าวรายละเอียดไว้แล้ว
๘.
การบูชากราบไหว้พระคเณศของคนธรรมดาทั่วๆไป
การบูชาพระคเณศจากคติความเชื่อของพ่อค้าวาณิชในสมัยโบราณ
โดยเฉพาะพ่อค้าชาวอินเดีย
จะกราบไหว้บูชาพระคเณศในแง่ของเทพผู้อำนวยความสำเร็จทางการค้าและความร่ำรวย
จวบจนกระทั่งปัจจุบันคติความเชื่อดังกล่าวกลับมาได้รับความนิยมกันอีก
ดังจะเห็นได้จากบรรดาร้านค้าต่างๆ จะมีหิ้งบูชาพระคเณศ
เป็นการบูชาพระคเณศเพื่ออำนวยความสำเร็จและความร่ำรวยทางการค้าให้แก่ผู้บูชาโดยจะบูชาทุกวัน
ด้วยผลไม้บ้าง ขนมหวานบ้าง อ้อยควั่น ดอกไม้สีแดงสดใส น้ำนมเปรี้ยว น้ำสะอาด ฯลฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น